หลายทศวรรษที่ผ่านมาโลกได้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทุกชนิด จากข้อมูลล่าสุดพบว่าชาติอุตสาหกรรมในกลุ่ม G20 ได้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนรวมกันร้อยละ 80 ของการปล่อยมลพิษทั่วโลก ทำให้โลกถูกปกคุลมด้วยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาลก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างรวดเร็วและมีผลกระทบในหลายด้านของสิ่งแวดล้อมและสังคมแบบสุดขั้วเรียกว่า “ภาวะโลกเดือด”
เราคงคุ้นเคยกับคำว่า “ภาวะโลกร้อน (Global Warming)” ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นเมื่อปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศเพิ่มขึ้นทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นจากผลกระทบของภาวะเรือนกระจก (Greenhouse Effect) โดยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้แก่ การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง และถ่านหิน
“The era of global boiling has arrived” เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2566 อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) ได้เผยแพร่คำประกาศที่ทำให้เราต้องตระหนักถึงความรุนแรงของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน ซึ่งนักวิชาการและนักวิจัยทั่วโลกก็เห็นด้วยกับคำประกาศนี้ โดยเป็นที่เข้าใจตรงกันว่าปัจจุบันโลกของเราได้สิ้นสุด “ยุคโลกร้อน (Global Warming)” และกำลังเข้าสู่ “ยุคโลกเดือด (Global Boiling)” แล้วนั่นเอง ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรงโดยหลังจากที่องค์กร NASA ได้ตรวจวัดอุณหภูมิจากสถานีตรวจอากาศนับหมื่นแห่ง พบว่า เดือนกรกฎาคม 2566 กลายเป็นเดือนที่ร้อนสุดในประวัติการณ์ อุณหภูมิเฉลี่ยที่ซีกโลกเหนือร้อนที่สุดในรอบ 170 ปี และน้ำแข็งละลายเร็วขึ้น 6 - 7 เท่า เมื่อเทียบกับ 25 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรง การปลดปล่อยพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์ การระเบิดของภูเขาไฟ Tonga-Hunga และสถานการณ์ไฟป่าที่รุนแรงโดยเฉพาะที่ กรีซ อิตาลี โครเอเชีย และแคนาดา ที่เกิดไฟป่ากว่า 1,000 จุด นอกนี้ทางยุโรปเสียชีวิตด้วยคลื่นความร้อนกว่า 60,000 รายในกลุ่มเปราะบางและผู้สูงอายุ
การกระทำของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานจากฟอสซิลในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ การตัดไม้ทำลายป่า การทำปศุสัตว์ หรือการคมนาคม ล้วนเป็นสาเหตุของผลกระทบที่เกิดขึ้น จากรายงานล่าสุดปี 2566 ของ IPCC พบว่า ช่วงปี ค.ศ. 2011-2020 อุณหภูมิพื้นผิวโลกสูงขึ้นถึง 1.1 องศาเซลเซียส มากกว่าช่วงปี ค.ศ. 1850-1900 (ยุคอุตสาหกรรม) ประชากรโลก 3.3-3.6 พันล้านคนต้องอาศัยอยู่ในภูมิภาคที่มีความเสี่ยงสูงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น และในช่วงปี ค.ศ. 2010-2020 จะมีความเสี่ยงสูงเสียชีวิตจากภัยพิบัติน้ำท่วม ภัยแล้ง และพายุสูงเป็น 15 เท่า เมื่อเทียบกับภูมิภาคที่มีความเสี่ยงต่ำ
ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โลกของเราได้รับผลกระทบจากภาวะโลกเดือดอย่างมหาศาล ผลกระทบเหล่านี้เป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศและภัยธรรมชาติที่รุนแรง เช่น
สำหรับประเทศไทย พบว่าในปี พ.ศ. 2566 มีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 1.5 องศาเซลเซียส โดยเมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2566 มีอุณหภูมิสูงสุด 44.6 องศาเซลเซียส ที่จังหวัดตาก และคาดว่าจะรุนแรงต่อเนื่องถึงเดือนเมษายน พ.ศ.2567 จากปรากฏการณ์เอลนีโญอาจทำให้ผู้สูงอายุเสียชีวิตจากความร้อนในอัตรา 58 ต่อแสนประชากร หรือ 14,000 คน ภายในปี พ.ศ. 2623
ดังนั้น แนวทางการรับมือวิกฤติสภาพภูมิอากาศนั้นจะต้องดำเนินการควบคู่กันไปอย่างเร่งด่วน ทั้งการเพิ่มป่าไม้และพื้นที่สีเขียวเพื่อการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การกักเก็บคาร์บอนของต้นไม้ การส่งเสริมบทบาทของภาคธุรกิจเอกชนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ และส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม